รัฐตรึงราคาน้ำมันดีเซล 35 บาท ช่วยฝ่าวิกฤตพลังงาน

รัฐตรึงราคาน้ำมันดีเซล 35 บาท ช่วยฝ่าวิกฤตพลังงาน

.

น้ำมันดีเซล ที่ไทยเราใช้ทั้งในภาคการขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตรและผู้ใช้รถยนต์ทั่วไป ราคาขายปลีก ณ วันที่ 22 มิถุนายน 2565 อยู่ที่ลิตรละ 34.94 บาท ยังเป็นไปตามเพดานที่รัฐบาลตรึงไว้ไม่เกิน 35 บาท /ลิตร และมีแนวโน้มว่าจะตรึงอยู่ที่ราคาไม่เกิน 35 บาทไปได้ถึงอย่างน้อยสิ้นเดือนนี้ เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกช่วงนี้อยู่ในภาวะทรงตัวถึงลดลง จึงยังไม่ส่งผลให้ราคาน้ำมันในไทยปรับขึ้นอีกอย่างน้อยในช่วงนี้

ขณะที่รัฐบาล ยังคงหามาตรการมาบรรเทาความเดือดร้อน ให้กับประชาชนจากวิกฤตพลังงานที่พุ่งสูง อันเป็นผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่ว่าจะเป็นการหางบประมาณมาชดเชยแก่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีสถานะติดลบเกือบ 1 แสนล้านบาท จากการนำเงินไปตรึงราคาน้ำมันและก๊าซ ไม่ให้ราคาสูง รวมทั้งการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหลายรายการไม่ให้ปรับราคาขึ้นสูงเกินไป เพราะจะสร้างความเดือดร้อนเพิ่มเติมแก่ประชาชนได้ และการประชุม ครม.เมื่อ 21 มิถุนายน 2565 ได้ออกมาตรการมาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน

แนวโน้มตรึงดีเซลไว้ที่ 35 บาท/ลิตร มีโอกาสสูงถึงอย่างน้อยสิ้นเดือนนี้

ตามที่ปลัดกระทรวงพลังงาน นายกุลิศ สมบัติศิริ ได้กล่าวไว้เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า หากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกราคาไม่ถึง 120 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล และน้ำมันสำเร็จรูปประเภทดีเซลไม่ถึง 170-180 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล จะสามารถตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในบ้านเราไว้ที่ลิตรละไม่เกิน 35 บาทไปจนถึงอย่างน้อยสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ได้

จากการติดตามข้อมูลราคาน้ำมันในตลาดโลก ณ วันที่ 22 มิถุนายนพบว่า น้ำมันดิบมีราคาซื้อขายประมาณ 109-115 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล ส่วนน้ำมันสำเร็จรูประเภทดีเซลตลาดสิงคโปร์ ยังไม่เกิน 180 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล ราคาน้ำมันจึงยังไม่เกินเส้นที่กระทรวงพลังงานกำหนด จึงน่าจะตรึงราคาดีเซลไว้ที่ไม่เกิน 35 บาท/ลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือนนี้ได้ตามเป้า

สำหรับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในภาวะทรงตัวถึงลดลง น่าจะมาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก 0.75% ซึ่งเป็นการปรับในอัตราที่มากสุดในรอบ 28 ปี เพื่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อรุนแรง และมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอีกในเดือนกรกฏาคม จึงส่งผลทางจิตวิทยามายังตลาดน้ำมันทำให้ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลง ดังนั้นมีความเป็นไปได้ว่าในเดือนหน้า กรกฎาคมนี้ ไทยเราจะยังตรึงดีเซลขายปลีกไว้ได้ที่ไม่เกิน 35 บาท/ลิตร ตามปัจจัยแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงตามการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกหรือราคาหน้าปั้มบ้านเรา ณ วันที่ 22 มิถุนายน 2565 มีราคาอยู่ที่ลิตรละ 34.94 บาท หรือตัวเลขกลมๆ ยังอยู่ที่ 35 บาท/ลิตร

สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คาดติดลบทะลุ 1 แสนล้านบาท ภายในสิ้นเดือนนี้

ด้านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ถูกนำเงินมาหนุนราคาขายปลีกน้ำมันและก๊าซ โดยเฉพาะดีเซลและก๊าซแอลพีจี(หุงต้ม) ไม่ให้พุ่งสูงตามราคาจริง ทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีสถานะติดลบกว่า 91,089 ล้านบาท ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2565 แยกเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 50,147 ล้านบาท โดยปัจจุบันหนุนราคาน้ำมันดีเซลทั้งแบบนำไปลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลงมา 5 บาทต่อลิตรและการช่วยรับภาระครึ่งหนึ่งของราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นไป หรือลิตรละ 5.34 บาท หากรวมทั้งสองแบบเท่ากับหนุนราคาดีเซลถึงลิตรละ 10.34 บาท ดังนั้นหากไม่มีการหนุนราคาดีเซลปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ราคาจริงจะอยู่ที่ลิตรละประมาณ 45บาท ขณะที่บัญชีก๊าซแอลพีจีติดลบ 35,881 ล้านบาท โดยรัฐบาลนำเงินจากกองทุนน้ำมันฯไปหนุนกิโลกรัมละ 13.68 บาท หรือหนุนต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ประมาณ 205 บาท /ถัง ซึ่งราคาก๊าซแอลพีจี หรือก๊าซหุงต้ม ณ ขณะนี้ ถังขนาด 15 กิโลกรัม 363 บาท หากไม่มีการหนุนราคาปล่อยเป็นไปตามกลไกตลาด จะมีราคาอยู่ที่ถังละ 568 บาท

จากข้อมูลกรมธุรกิจพลังงาน พบว่า ช่วงไตรมาสแรกของปี มกราคม-มีนาคม 2565 พบการใช้น้ำมันดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 76.25 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 13.4% เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น ภาคการผลิต ขนส่ง เริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด รวมทั้งการตรึงราคาของรัฐบาล จึงมีความต้องการใช้มากขึ้น ขณะที่กลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 29.32 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.7% เนื่องจากมีราคาสูงขึ้น ความต้องการใช้จึงลดลง

ส่วนก๊าชแอลพีจี เฉลี่ยอยู่ที่ 17.48 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.6 % เนื่องจากการใช้ในภาคปิโตรเคมี ภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัว ส่วนภาคครัวเรือนการใช้คงที่ ขณะที่การใช้ก๊าซเอ็นจีวี เฉลี่ยอยู่ที่ 3.33 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.9% เนื่องจากการใช้ในภาคปิโตรเคมี ภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง เพิ่มขึ้นเช่นกัน

จากการใช้น้ำมันดีเซลและก๊าซแอลพีจี จำนวนมากและยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกว่าพลังงานชนิดอื่น เรียกได้ว่ายิ่งใช้มากเท่าไหร่รัฐบาลก็จำเป็นต้องนำเงินจากกองทุนน้ำมันฯ ไปอุดหนุนราคามากขึ้นตาม เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยเมื่อคำนวณตามการใช้พลังงานทั้งสองอย่างของประชาชนแล้ว ต้องนำเงินจากกองทุนน้ำมันฯ ไปอุดหนุนราคาตกสัปดาห์ละ 5,000 ล้านบาท หรือเดือนละ 20,000 ล้านบาท จึงคาดว่าภายในสิ้นเดือนนี้กองทุนน้ำมันฯ จะมีสถานะติดลบทะลุ 1 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผู้ใช้น้ำเบนซิน แม้มีแนวโน้มการใช้ลดลง แต่รัฐบาลยังพยายามทำให้ราคาไม่สูงจนเกินไปกว่านี้ เห็นได้จากการจะนำเงินกำไรบางส่วนจากโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซ มาเป็นส่วนลดเบนซิน คาดว่าจะลดลงได้ลิตรละ 1 บาท ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายนนี้ เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ใช้น้ำมันเบนซิน อย่าง วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ไรเดอร์ส่งอาหาร รวมถึงผู้ใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ทั่วไป ไปมากกว่านี้

รัฐบาลออกมาตรการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน

แม้กองทุนน้ำมันฯ มีสถานะติดลบใกล้ 1 แสนล้านบาทแล้ว แต่ทางรัฐบาลยังคงหาวิธีนำงบประมาณจากส่วนอื่นตามอำนาจที่กฎหมายกำหนดมาชดเชยแก่กองทุนน้ำมันฯ เพื่อจะได้นำไปบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนต่ออีก อย่าง การขอความร่วมมือจากโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซ ให้ส่งกำไรบางส่วนที่ได้ในช่วงราคาน้ำมันปรับขึ้นเข้าสู่กองทุนน้ำมันฯ และนำไปเป็นส่วนลดเบนซินลงลิตรละ 1บาท ซึ่งโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซ ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จะส่งเงินกำไรบางส่วนมาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นระยะเวลา 3 เดือน นอกจากนี้รัฐบาลยังพิจารณานำงบประมาณจากส่วนงบกลาง หรืออาจมาจาก พ.ร.บ.เงินกู้ มาสมทบเข้ากับกองทุนน้ำมันฯ อีกทางหนึ่ง โดยล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)?เมื่อ 21 มิถุนายน 2565 มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือประชาชนด้านพลังงาน 6 มาตรการคือ

1. ตรึงราคาขายปลีกก๊าซ NGV ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม ส่วน NGV ในโครงการเอ็นจีวีเพื่อลมหายใจเดียวกัน สำหรับรถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 13.62 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 16 มิถุนายน - 15 กะนยายน 2565

2. กำหนดกรอบราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ประมาณ 408 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม 3 เดือน ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม- 30 กันยายน 2565

3. ขยายเวลาให้ส่วนลดราคา LPG สำหรับร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่เกิน 100 บาทต่อรายต่อเดือน ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม- 30 กันยายน 2565 ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอื่นๆ ได้รับส่วนลดการซื้อก๊าซหุงต้ม จำนวน 100 บาทต่อรายต่อ 3 เดือน

4. อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล ร้อยละ 50 ในส่วนที่ราคาขายสูงกว่า 35 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือนกรกฎาคม- 30 กันยายน 2565

5. คงค่าการตลาดน้ำมันดีเซล ไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร

6. ขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมัน นำส่งกำไรจากค่าการกลั่นส่วนหนึ่ง เข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อนำไปลดภาระราคาน้ำมันให้กับประชาชน ทั้งดีเซล

และเบนซิน เป็นเวลา 3 เดือน คือเดือนกรกฎาคม- 30 กันยายน 2565

ส่วนการช่วยบรรเทาปัญหาค่าครองชีพอื่น เช่น สินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน รัฐบาลได้มีการควบคุมราคา โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการมีมติให้ต่ออายุสินค้าและบริการควบคุมออกไปอีกเป็นเวลา 1 ปี ประกอบด้วย สินค้าควบคุม 46 รายการ และบริการ 5 รายการ รวม 51 รายการ ให้ต่ออายุตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 อย่างเช่น ข้าวสาร ข้าวเปลือก ข้าวสาลี ปุ๋ย เนื้อหมู ไข่ไก่ สบู่ แชมพู ผงซักฟอก ยารักษาโรค โดยสินค้าและบริการที่ถูกควบคุมจะไม่สามารถปรับราคาขึ้นได้จากราคาปัจจุบัน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตให้ปรับขึ้น

ทั้งหมดที่ว่ามาจะเห็นได้ว่าวิกฤตราคาพลังงานที่มาจากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก แต่กลับส่งผลกระทบต่อไทยเราไม่น้อยเลยเฉกเช่นประเทศอื่นๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม หากได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย อย่างภาครัฐได้เริ่มแล้วด้วยการให้ทุกหน่วยงานลดการใช้พลังงานลง 20% และหากทุกฝ่ายช่วยกัน เราจะผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar